Monday, September 29, 2008

ลงทุนเอทานอลโคราชสะพัดหมื่นล. ดั๊บเบิ้ลเอโดดชิงเค้ก-เคไอเอทานอลรุกลงทุนเพิ่ม

ลงทุนเอทานอลโคราชสะพัดหมื่นล. ดั๊บเบิ้ลเอโดดชิงเค้ก-เคไอเอทานอลรุกลงทุนเพิ่ม

โคราช เนื้อหอมโรงงานเอทานอลพาเหรดลงทุน ยักษ์ใหญ่ "ดั๊บเบิ้ล เอ" ดักซื้อหัวมันสดแบบดาวกระจาย ลงทุนแห่งละ 60 ล้าน ด้าน "เคไอเอทานอล" ยื่นขอลงทุนเพิ่มอีก 300 ล้าน เร่งกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวันป้อนออร์เดอร์ ปตท.-บางจากฯ-เชลล์เท่าตัว ส่วน "ที พี เค" เดินหน้าก่อสร้างโรงงานต่อหลังชะลอช่วงนโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดเผยยังมีอีกหลายบริษัทหวังตั้งฐานผลิตที่โคราช เงินลงทุนสะพัดหมื่นล้าน



นายประวุฒิ ตั้งจรูญชัย อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายและหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน ที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น จึงมีนักลงทุนสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในเขต จ.นครราชสีมาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเดินเครื่องผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเพียง 1 แห่ง คือ บริษัท เคไอ เอทานอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.พิมาย ผลิต เอทานอลจากกากน้ำตาล

โดยเดินเครื่องผลิตเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2550 มีกำลังการผลิต 100,000 ลิตรต่อวัน ขณะนี้ยังได้ยื่นเรื่องขออนุญาตขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือ 100,000 ลิตร/วัน รวมเป็น 200,000 ลิตร/วัน คาดว่าพร้อมเดินเครื่องผลิตได้ภายในปลายปี 2552



นอก จากเคไอเอทานอลที่ยื่นเรื่องขยายการลงทุนแล้ว ยังมีอีก 1 โรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ครบุรี ผลิต เอทานอลจากมันสำปะหลัง อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ภายในปี 2552 มีกำลังการผลิต 850,000 ลิตรต่อวัน ใช้งบฯลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทยังไม่แน่ใจนโยบายของรัฐบาลจึงชะลอการลงทุนออกไป แต่ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เอทานอล จำกัด ในเครือดั๊บเบิ้ล เอ ได้ยื่นเรื่องขอตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ภายใต้ชื่อโครงการโรงแป้ง ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ต้องการตั้งโรงงานดักซื้อมันปะหลังแบบดาวกระจาย ทั่วทุกอำเภอใน จ.นครราชสีมา โดยใช้งบฯลงทุนแต่ละแห่ง 50-60 ล้านบาท ตั้งเป้ารับซื้อหัวมันสดวันละ 200 ตัน ซึ่งโรงงานแต่ละจุดจะแปรรูปมันสำปะหลังให้เป็นแป้งหมาดแล้วส่งต่อยังแหล่ง ผลิตขนาดใหญ่ของกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอที่ จ.ปราจีนบุรี เพื่อนำไปผลิตเอทานอลอีกต่อหนึ่ง

ทั้งนี้ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เอทานอล จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตไปแล้ว 1 แห่ง คือ ที่ อ.ด่านขุนทด คาดว่าอีกไม่นานจะมีการตั้งโรงงานแบบเดียวกันนี้ขึ้นที่ อ.ครบุรี อ.โชคชัย และ อ.หนองบุญมาก เพราะเป็นแหล่งที่มีมันสำปะหลังจำนวนมาก

ซึ่ง อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้มีเงินลงทุนอุตสาหกรรม เอทานอลใน จ.นครราชสีมากว่า 1 หมื่นล้านบาท และคิดว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเพราะต้องการรอความ ชัดเจนจากรัฐบาลก่อน เนื่องจากต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาล เกรงว่าจะไม่คุ้มค่าการลงทุน

"วัตถุดิบที่ได้จากกากน้ำตาลนั้น ตนคิดว่าน่าจะเพียงพอเพราะมีโรงงานแม่เป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้อย่างต่อเนื่อง ส่วนมันสำปะหลังหากมีความต้องการมาก ราคามันสำปะหลังก็จะสูงขึ้น จะเป็นไปตามกลไกตลาดเกษตรกรก็จะหันมาปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น และพื้นที่ในการปลูกพืชอย่างอื่นก็จะลดลงขึ้นอยู่กับราคา ส่วนจะกระทบกับตลาดแป้งหรือไม่ต้องรอดูว่าราคาจะเป็นอย่างไร เพราะหากราคาวัตถุดิบขึ้น ราคาแป้งก็คงจะต้องขึ้นตามไปด้วย" นายประวุฒิกล่าว

ด้านนายหัสดิน ขวัญคง ผู้จัดการ บริษัท เคไอเอทานอล จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทผลิตเอทานอลได้ไม่ทันความต้องการของตลาด จึงต้องมีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวของปริมาณที่มีอยู่ในขณะ นี้ ซึ่งตอนนี้ได้ยื่นเรื่องต่ออุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาแล้ว เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มอีก 300 ล้านบาทจากครั้งแรกที่ลงทุนไปทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลหรือโมลาสจากโรงน้ำตาลพิมาย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ คือ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด

ปัจจุบันโรง งานได้ส่งเอทานอลจำหน่ายให้กับผู้ค้าน้ำมันเท่านั้น ได้แก่ ปตท. จำนวน 1.2 ล้านลิตรต่อเดือน บางจากฯ 8 แสนลิตรต่อเดือน และเชลล์ 1 แสนลิตรต่อเดือน ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาผลผลิตขาดตลาด เพราะยังมีเกษตรกรป้อนอ้อยเข้าสู่โรงงานแม่อย่างต่อเนื่อง

 

Tuesday, September 16, 2008

E85 ประเทศไทยได้อะไร

E85 ประเทศไทยได้อะไร

สำหรับ ท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับ คำว่า "เอทานอล (E85)" ขออธิบายโดยย่อว่า เอทานอลก็คือ แอลกอฮอล์ 99.5% สำหรับผสมกับน้ำมันเบนซิน แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า แก๊สโซฮอล์ โดยตั้งชื่อสูตรน้ำมันตามอัตราส่วนที่ผสมเอทานอล เช่น แก๊สโซฮอล์ E10 ก็หมายถึง น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล 10% เป็นต้น

 

ประเทศไทยผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ซึ่งมีราคาถูกกว่าการผลิตจากมันสำปะหลัง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการผลิตจากมันสำปะหลังมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังสูงขึ้นมากในช่วงนี้ ปัจจุบันมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเอทานอลถึง 49 โรงงาน รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 12.5 ล้านลิตรต่อวัน สามารถทดแทนการใช้ และการนำเข้าน้ำมันเบนซินประมาณ 50% โดยมีโรงงานที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 11 โรงงาน กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.58 ล้านลิตรต่อวัน ความต้องการใช้เพียงวันละ 800,000 ลิตร บางโรงงานจึงต้องปิดตัวเอง บางโรงงานก็ลดกำลังการผลิต ปัญหาที่มากกว่านั้นก็คือ ยังมีโรงงานที่ทยอยสร้างเสร็จเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในสิ้นปี 2551 จะมีกำลังการผลิต เอทานอล 2.3 ล้านลิตรต่อวัน และ 3.9 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อสิ้นปี 2552 หากภาครัฐไม่มีการปรับแผนการส่งเสริมเอทานอล เช่น ยกเลิกเบนซิน 91 ก็อาจสร้างปัญหาใหญ่ให้กับผู้ผลิตเอทานอลอีกครั้ง ถึงแม้ว่าผู้ผลิตได้พยายามส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และยุโรป แล้วก็ตาม ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกเฉลี่ยวันละ 200,000 ลิตรเท่านั้น

 

มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการใช้น้ำมัน E85 มีดังนี้

มติคณะรัฐมนตรี 3 มิถุนายน 2551

1. ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ E85 และไม่มีผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว 3 ปี

2. ลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E85 ลงเหลือร้อยละ 25, 30 และ 35 ตามขนาดเครื่องยนต์ เท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E20 ในปัจจุบัน

3. ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน E85 เหลือ 2.5795 บาทต่อลิตร จาก 3.6850 บาทต่อลิตร

 

มติคณะรัฐมนตรี 15 กรกฎาคม 2551

ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์เหลือ 0.0165 บาทต่อลิตร (6 มาตรการ 6 เดือน)

 

ทั้งนี้เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เพิ่มเสถียรภาพพลังงานด้านเชื้อเพลิงของประเทศ และส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อย-มันสำปะหลัง

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือ การลดการใช้เบนซินในประเทศ ไม่ใช่การลดการนำเข้าน้ำมันดิบ เนื่องจากประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซินถึง 2.5 เท่า ทำให้ต้องส่งออกน้ำมันเบนซินส่วนเกิน หรือนำไปใช้ในรูปแบบอื่น เพื่อให้เกิดสมดุล การส่งเสริมการใช้ให้เอทานอลในน้ำมันเบนซิน ควรต้องทำไปพร้อม ๆ กับการผลิตและใช้ไบโอดีเซล จึงจะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบได้ จากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ประเทศไทยมีรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล 6 ล้านคัน ใช้ในกรุงเทพมหานครประมาณ 1.49 ล้านคัน และมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน 3.2 ล้านคัน ใช้ในกรุงเทพมหานคร 1.76 ล้านคัน นอกจากนี้ยังมีรถที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ อีกประมาณ 400 คันทั่วประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเราใช้เบนซินประมาณ 18-20 ล้านลิตรต่อวัน และใช้ดีเซลประมาณกว่า 40 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น หากจะลดการนำเข้าน้ำมันจริง ๆ ก็คงต้องดำเนินแผนงานไปพร้อมกันทั้งเบนซิน และดีเซล

 

นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่น ๆ อีกจากหลากหลายหน่วยงาน ที่แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการลดอัตราภาษี รถยนต์ E85 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษี ECO CARS ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ผลิตในประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นหากจะผลักดันรถยนต์ E85 จริง ๆ คงต้องคำนึงถึงความสมดุลของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ และสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการในรถแต่ละประเภท เพื่อไม่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติ

ในโอกาสต่อไป จะขอนำเสนอแนวทางการใช้ความได้เปรียบ ทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งด้านพืชพลังงาน โดยยังดำรงความเป็นครัวของโลกอยู่เหมือนเดิม