Tuesday, December 16, 2008

อนาคตพลังงานทดแทน เมื่อน้ำมันดิบราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

อนาคตพลังงานทดแทน เมื่อน้ำมันดิบราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

    ราคา น้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งกำลังประสบกับวิกฤติทางการเงินครั้งร้ายแรงที่สุด นับจากการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก เมื่อ 80 ปีที่แล้ว

 

        ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสซื้อขายในตลาด Nymex เมื่อวันศุกร์ ที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 54.43 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะอ่อนตัวลงได้อีกจาก ความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่จะลดน้อยลง จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะลุกลามไปทั่วโลก โดยคาดว่าถ้าเศรษฐกิจโลกไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว ราคาน้ำมันดิบน่าจะปรับลดลงไปต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้ในช่วงสิ้นปีนี้

 

        ปัญหาคือราคาน้ำมันดิบที่ ต่ำกว่า50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลนี้ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อการขยายตัวของพลังงานทดแทน และส่งผลให้ประเทศไทย ต้องเผชิญปัญหาพลังงานทดแทนที่มีราคาแพงกว่าน้ำมัน โดยปัจจุบันราคาเอทานอลลิตรละ 22-24 บาท ขณะที่น้ำมันเบนซิน 95 หน้าโรงกลั่น ราคาเพียง 9.83 บาทต่อลิตร (ราคาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 51) ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีสรรพสามิต/ภาษีเทศบาล/กองทุนน้ำมัน/กอง ทุนอนุรักษ์พลังงานและภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 10.12 บาทต่อลิตร

 

        ดังนั้นถ้าเอาราคามาเทียบกันโดยยังไม่คิดภาษี ราคาเอทานอล ในปัจจุบันก็แพงกว่าราคาเบนซินถึงลิตรละ 10 กว่าบาท ดังนั้นเมื่อเอามาผสมกับน้ำมันเบนซินในปริมาณ 10% ก็ทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 หน้าโรงกลั่นมีราคา 11.26 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 1.43 บาท แต่ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 (E-10) ยังคงถูกกว่าเบนซิน 95 ได้ถึงลิตรละ 8.90 บาท ก็เพราะรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิต/เงินเก็บเข้ากองทุนให้กับแก๊สโซฮอล์ถึงลิตรละ 5.32 บาท นอกนั้นก็เป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาดที่ต่ำกว่าการจำหน่ายเบนซิน 95

 

        ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับแก๊สโซฮอล์ 91 และไบโอดีเซล B5 เช่นเดียวกัน เพราะราคาไบโอดีเซล B100 อยู่ที่ลิตรละ 22-22 บาท ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 14.77 บาทเท่านั้น

 

        ราคาต้นทุนเอทานอลและ B100 ที่สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล ธรรมดานี่เองที่ทำให้อนาคตของพลังงานทดแทนประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพ (B10-FUEL) ไม่ค่อยสดใสนักและราคาน้ำมันที่ลดลงเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นแรงกดดันต่อการขยายขอบข่ายของการใช้ พลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

        จะเห็นว่าภายหลังการปรับราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับลดน้ำมันเบนซินธรรมดา มากกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทำให้ส่วนต่างระหว่างน้ำมันทั้ง 2 ชนิด แคบลงจากแต่เดิมเบนซิน 95 กับแก๊สโซฮอล์ 95 เคยมีส่วนต่างถึงลิตรละ 10.10 บาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 8.90 บาท และเบนซิน 91 กับแก๊สโซฮอล์ 91 ก็มีการปรับลดส่วนต่างลงจาก 7.70 บาทต่อลิตร เหลือเพียง 5.50 บาทต่อลิตร เท่านั้น

 

        การที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก และส่วนต่างราคาที่แคบเข้า ประกอบกับผู้บริโภคมีความเชื่อว่าคุณภาพน้ำมันเบนซินดีกว่าแก๊สโซฮอล์ ทำให้ปัจจุบันยอดการใช้แก๊สโซฮอล์เริ่มลดลงและยอดการใช้เบนซินเริ่มสูงขึ้น และคงจะเป็นไปในทิศทางนี้เรื่อย ๆ ถ้าราคาน้ำมันลดลงอีกในอนาคต

 

        รัฐบาลเองก็มีปัญหา เพราะการลดภาษีสรรพสามิต ให้กับแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลตามมาตรการ 6 เดือน จะครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จะต้องปรับภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันทั้ง 2 ชนิด นี้ขึ้นไปอีก 3.63 บาทต่อลิตร และ 2 .53 บาทต่อลิตรตามลำดับ ยิ่งจะทำให้น้ำมัน 2 ชนิดนี้มีราคาแพงขึ้น และจะไปใกล้เคียงกับราคาน้ำมันเบนซินมากขึ้น

 

        ดังนั้นทางออกของรัฐบาลในระยะสั้น คือ ต้องปรับเพิ่มเพดานการเก็บเงินเข้ากองทุน้ำมันจากผู้ใช้เบนซิน 95 และ 91 เป็น 5 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับส่วนต่างของน้ำมันเบนซินและ แก๊สโซฮอล์เอาไว้ที่ระดับ 7-9 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้คนไม่เปลี่ยนมาใช้เบนซินธรรมดาทั้ง 95 และ 91 เพิ่มมากขึ้น

 

        ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งแผนยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ให้เหลือแต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพียงอย่างเดียว และเปลี่ยนน้ำมันดีเซล B2 เป็น B5 ที่เดิมกำหนดไว้ในปี 2554 ให้เร็วขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเอทานอลล้นตลาด และราคาพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและอ้อยตกต่ำ ซึ่งเท่ากับกระสุนนัดเดียวยิงนกได้ 2 ตัว

 

        ส่วนในระยะยาวคงต้องเร่ง ROAD.MAP พืชพลังงานและพลังงานทดแทนให้ออกมามีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งในด้านการขยายพื้นที่การเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้กับพืชพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำพืชพลังงานเข้าซื้อขายในตลาดซื้อขาย ผลิตภัณฑ์ เกษตรล่วงหน้า (AFET) หรือตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลเสถียรภาพของพืชพลังงานโดยตรง

 

        แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าราคาน้ำมันลงมาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จริง ๆ และราคาพืชพลังงานไม่ลดลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ก็บอกได้คำเดียวว่าอนาคตของพลังงานทดแทนในบ้านเราคงไม่สดใสแน่นอน

กูรูมันแนะให้ปรับนโยบายเอทานอล

กูรูมันแนะให้ปรับนโยบายเอทานอล

[Image]

นาย สุกิจ หวั่งหลี ประธานกรรมการบริษัท พูลผล จำกัด และประธานคณะกรรมการมูลนิธิ สถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังคงจะต้องชะลอออกไปก่อนหลังจากที่ระดับ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปรับ ลดลงต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากที่เคยปรับขึ้นไปสูงสุดถึง 150-170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปีส่งผลให้แรงจูงใจในการผลิตและการใช้ พลังงานทดแทนปรับลดลง

แหล่งข่าวจากวงการค้ามันสำปะหลัง เปิดเผยว่า แผนการผลิตพลังงานทดแทน เอทานอลจากมันสำปะหลังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะในปี 2551 มีบริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด จ.ขอนแก่น เพียงโรงงานเดียวที่ใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังไปผลิตเอทานอล ทำให้สัดส่วนการใช้มันสำปะหลังส่วนนี้มีเพียง ไม่ถึง 1 ล้านตัน จากเดิมที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าความต้องการใช้มันสำปะหลังจะมีไม่ต่ำ กว่า 30 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่า ตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรป จะมีความต้องการมันเม็ดไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน, จีน ต้องการมันเส้นไม่ต่ำกว่า 4 ล้านตัน และโรงงานอาหารสัตว์ภายในประเทศจะใช้มันอยู่ระหว่าง 1.2-1.5 ล้านตัน ส่งผลให้มีความต้องการใช้มันเส้น-มันเม็ดไปแล้วถึง 7 ล้านตัน หรือ 15 ล้านตันหัวมันสด ในขณะที่อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังมีความต้องการใช้มันไม่ต่ำกว่า 15 ล้านตัน โดยเฉพาะยังมีการเพิ่มปริมาณความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบใน การผลิตเอทานอล ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานเปิดขึ้นอีกหลายโรง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านตัน จึงได้เป็นแรงจูงใจใน การเพิ่มปริมาณผลผลิตในฤดูกาลผลิต ปี 2551/52 เป็น 27.619 ล้านตัน จากปีก่อนที่มีผลผลิต 26.411 ล้านตัน

"สาเหตุหลักที่ทำให้การผลิตเอ ทานอลจากมันสำปะหลังไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อเอทานอลรายเดียว กำหนดราคารับซื้อต่ำจนโรงงานเอทานอลรับไม่ได้ เช่น หากจะให้ซื้อหัวมันสดจากเกษตรกร ก.ก.ละ 2 บาท มาผลิตเป็นเอทานอลได้ 12 บาท ต่อลิตร รวมค่าบริหารจัดการจะมีต้นทุน 19 บาทต่อลิตร หากจะให้โรงงานอยู่ได้ต้องซื้อ 20 บาทต่อลิตร แต่บริษัทกลับซื้อกัน จริงเพียง 16.50 บาทต่อลิตรเท่านั้น จากเพดานราคาเอทานอลที่ 17.54 บาทต่อลิตร แผนเอทานอลจึงไม่เพิ่มขึ้น และเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงทำให้ส่วนต่างของน้ำมันกับพลังงานทดแทนต่างกัน ไม่มาก ประชาชนก็เลยหันกลับไปใช้น้ำมันปกติมากกว่า"